ผู้สนใจเข้าศึกษา แนะนำหลักสูตรบัณฑิตศึกษา

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ)

ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ)
Master of Science Program in Nutrition and Dietetics (International Program)
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วันทนีย์ เกรียงสินยศ
Image Description
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วันทนีย์ เกรียงสินยศ
"หลักสูตรแรกของประเทศไทย มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความชำนาญด้านโภชนาการและการกำหนดอาหารที่มีศักยภาพสูง ให้ความรู้ และคำปรึกษาแก่ผู้ป่วย บุคคลทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกัน และบำบัดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการ สามารถพัฒนางานวิจัย สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน และรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในประเทศและในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน "

ประวัติ และความเป็นมาในการจัดทำหลักสูตรฯ

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโภชนาการและการจัดการอาหาร หลักสูตรนี้เปิดมาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๔ ภายใต้ชื่อเดิม "หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาหารและโภชนาการเพื่อการพัฒนา" ต่อมาเมื่อ ๕ ปีที่แล้วได้เปลี่ยนเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร ถือว่าเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี หรือหลักสูตรใดๆก็ตามที่มีชื่อและการเรียนการสอนในลักษณะแบบนี้ โดยมีแยกออกมาเป็นหลักสูตรที่ชัดเจนเพื่อตอบสนองความต้องการ และยังเป็นหลักสูตรปริญญาโทหลักสูตรเดียวในประเทศไทย ซึ่งในอดีตช่วง ๑๕ – ๑๖ ปีที่ผ่านมาผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและสถาบันโภชนาการก็เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการและการกำหนดอาหาร เพราะว่าเห็นความจำเป็นและความสำคัญของวิชาชีพนี้ ขณะที่ในอดีตสถาบันโภชนาการมีบุคลากรอยู่ แต่อาจจะเป็นบุคลากรที่ไม่ใช่ด้านวิชาการมากและยังไม่ตอบสนองที่จะพัฒนาหลักสูตร ทางสถาบันโภชนาการได้มีการส่งบุคลากรเพื่อที่จะไปเรียนรู้ด้านสุขภาพ หรือด้านต่างๆที่ต่างประเทศ ๒-๓ คน เพื่อที่จ ะมาช่วยเขียนในการพัฒนาหลักสูตร หลักสูตรแรกของสถาบันโภชนาการที่เปิดมาตอนนั้น ก็มีผู้ที่ให้ความสนใจและมีการพัฒนาหลักสูตรเรื่อยมาในส่วนนี้ จากหลักสูตรฯ ที่เปิดในปี ๒๕๕๕ จนถึงบัดนี้ก็มีนักศึกษาที่เข้ามาจำนวน ๔๘ คน หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร เป็นหลักสูตรนานาชาติตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันนี้ จะเห็นว่าสถาบันโภชนาการมีนักศึกษาต่างชาติจำนวนร้อยละ ๒๐ เป็นนักศึกษาที่มาจากกลุ่มเพื่อนบ้านของไทย เช่น ประเทศพม่า โดยเฉพาะช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาสถาบันโภชนาการได้รับนักศึกษาทุนนอเวย์ ซึ่งจะมีนักศึกษาพม่าเยอะขึ้น ตามด้วยนักศึกษาจากประเทศเขมร ภูฏาน ศรีลังกา เข้ามาเป็นนักศึกษาในหลักสูตร

จุดเด่น ความโดดเด่นของหลักสูตร กับสังคมในปัจจุบัน

หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาโภชนาการและการจัดการอาหาร ได้รับความสนใจมากขึ้น เริ่มตั้งแต่สถาบันโภชนาการเปิดเป็นหลักสูตรปริญญาโท และในปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เปิดเป็นหลักสูตรปริญญาตรี โดยรับบัณฑิตที่จบจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ไปเป็นอาจารย์ในส่วนหนึ่ง ส่วนใหญ่นักศึกษาที่จบจากที่นี่จะไปเป็นนักโภชนาการกำหนดอาหารอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลหลายที่หากต้องการกำหนดมาตรฐานให้เป็นมาตรฐานสากลจำเป็นที่จะต้องขอ JCI (Join Commission International) ซึ่งโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI ก็จะเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ซึ่งกฏของการได้เข้ามาตรฐาน JCI คือในโรงพยาบาลต้องมีบุคลากรการแพทย์ในตำแหน่งนักโภชนาการกำหนดอาหาร นั่นคือสิ่งที่เสถาบันโภชนาการเริ่มต้นมาเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน แต่ขณะนั้นยังไม่ได้รับความสนใจมากเหมือนในปัจจุบัน จึงทำให้มีหลักสูตรปริญญาตรีเพิ่มขึ้นมาเพื่อรองรับ ซึ่งในตำแหน่งนักโภชนาการการกำหนดอาหารจะเห็นว่าสอดคล้องกับความต้องการ นอกจากในโรงพยาบาลแล้วจะเห็นว่าปัญหาด้านสุขภาพไม่ว่าจะเป็นของประเทศไทยหรือทั่วโลก จะเป็นปัญหาในเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ในกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคต่างๆเหล่านี้ เป็นที่ทราบกันว่าเกิดจากพฤติกรรมการกิน และสิ่งแวดล้อมต่างๆทำให้เกิดโรค การป้องกันหรือการส่งเสริมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งการรับประทานอาหารให้ถูกต้องหรือรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต และ ความสอดคล้องกับความชอบของแต่ละคนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาโภชนาการและการจัดการอาหารนี้ จะผลิตบัณฑิตและบุคลากรจบมาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อช่วยในแง่ของการส่งเสริมด้านสุขภาพหรือการทำงานในโรงพยาบาล และเป็นลักษณะของการเป็นนักโภชนบำบัดเพื่อที่จะช่วยและร่วมมือในการป้องกันแง่ต่างๆ เกี่ยวกับโรคที่กล่าวถึง

รูปแบบการเรียนการสอน

รูปแบบการเรียนการสอนจะมีทั้งในภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ ในช่วงปีแรกจะเป็นการเรียนภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ ซึ่งจะเรียนอยู่ภายในสถาบันโภชนาการ ในปีถัดไปก็จะเป็นในลักษณะของการออกไปฝึกปฏิบัติตามโรงพยาบาลหรือในแง่ของการบริการอาหาร ซึ่งในส่วนของวิชาประเมินโภชนาการ นักศึกษาก็จะได้เรียนและได้ฝึกปฏิบัติจริงในการตรวจวัดของโภชนาการทั้งในระดับคลินิคหรือในระดับของชุมชน จะได้ฝึกในการใช้เครื่องมือตต่างๆในการประเมินหรือใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง ส่วนในเรื่องของภาคปฏิบัตินั้น จะเป็นวิชาบังคับที่อยู่ใน ๒ หัวข้อวิชา เป็นการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาในเรื่อง Metabolic Syndrome ชึ่งก็สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพในปัจจุบันนี้ อีกส่วนหนึ่งจะให้ฝึกในเรื่องการให้ดูแลภาวะการปรับปรุงของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งในการฝึกภาคปฏิบัตินั้นก็จะมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เช่น โรงพยาบาลในภาครัฐเป็นโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งนักศึกษาก็จะได้ฝึกในหลายส่วน และในส่วนภาคเอกชนก็จะมีตั้งแต่โรงพยาบาลเทพธาริน โรงพยาบาลเปาโล โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เนื่องจากนักศึกษาก็อยากจะได้ใบประกอบวิชาชีพ ขณะนี้ก็จะมีสมาคมนักกำหนดอาหารเป็นสมาคมวิชาชีพ นักศึกษาก็จะลงวิชาเลือกเพิ่มเติมเพื่อจะได้ไปสอบใบประกอบวิชาชีพโรคศิลป์ นักศึกษาก็จะฝึกภาคปฏิบัติเพิ่มมากขึ้นให้ได้ครบตามข้อกำหนดจะต้องมีประมาณ ๙๐๐ ชั่วโมง และจะได้ฝึกปฏิบัติในผู้ป่วยที่มีภาวะโภชนาการเกิน เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือระบบไหลเวียนของหลอดเลือด รวมทั้งอาจจะมีทั้งความสนใจเป็นโภชนาการเสริมสำหรับนักกีฬา ซึ่งอาจจะมีความสนใจในขณะนี้มากขึ้น ในแต่ละการฝึกภาคปฏิบัตินั้นจะได้ประมาณ ๑๒๐ – ๑๖๐ ชั่วโมง ดังนั้นหากนักศึกษาได้ฝึกภาคปฏิบัติหรือลงสนามประมาณ ๗-๘ แห่ง ก็ได้จะชั่วโมงที่ครบเพื่อที่จะนำไปสอบใบประกอบวิชาชีพ

ความภาคภูมิใจของทางสถาบัน / ผลงานวิจัยที่โดดเด่น

นักศึกษาที่จบการศึกษาไปจะเป็นช่วงวัยกลางคน อาจจะยังไม่มีผลงานที่เด่นมาก แต่ความภาคภูมิใจคือ นักศึกษาที่จบการศึกษาไปจะได้ประกอบวิชาชีพในสาขาที่ตรงและปัจจุบันรุ่น ๑ ๒ ๓ เริ่มเป็นหัวหน้าในด้านของโภชนาการหรือโภชนบำบัดไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือรัฐ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนเนื่องจากว่าตำแหน่งนักโภชนาการกำหนดอาหารในภาครัฐ ยังมีการปรับเปลี่ยนไม่ชัดเจนและหลายคนก็จะกลายเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ ซึ่งมีการเปิดในเรื่องหลักสูตรนี้ และอีกส่วนหนึ่งคือนักศึกษาส่วนใหญ่ของเราก็จะทำในด้านของ Education Tool คือเป็นเครื่องมือที่ใช้ประกอบในเรื่องของการสอน ทำให้การให้ความรู้ทางด้านโภชนาการหรือโภชนบำบัดที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่นผู้ป่วยที่เป็นโรคไตก็จะมีการจำกัดโปรแตสเซียม ฟอสฟอรัสต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่ชัด แต่ถ้ามีเครื่องมือที่ทำให้เห็นภาพว่าอาหารมีโปรแตสเซียมหรืฟอสฟอรัสเท่าไหร่ ลักษณะของนักกำหนดอาหาร คือ เป็นลักษณะที่ประยุกต์ทางโภชนาการที่ถูกต้องมาสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะต้องมีการแปลงข้อมูลต่างๆ ให้เป็นปริมาณที่เห็น ซึ่งส่วนนี้ก็จะเป็น Education Tool ที่เป็นประโยชน์อย่างมากที่ใช้ในการแก้ปัญหา หรือเหมาะสมกับผู้ที่เป็นโรคและปฏิบัติได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ทุนการศึกษา สวัสดิการ

สวัสดิการสำหรับนักศึกษาทุกคนในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ที่ได้รับคือ ประกันอุบัติเหตุ ซึ่งนักศึกษาทุกคนจะต้องออกไปฝึกภาคสนามข้างนอกต้องมีการเดินทางซึ่งอาจจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ สถาบันโภชนการจึงมีส่วนประกันอุบัติเหตุให้แก่นักศึกษา สำหรับเรื่องทุนการศึกษานั้น เราจะมีทุนการศึกษาบางส่วนให้ทุกปี เช่น ลดค่าหน่วยกิต หรือช่วยค่าหน่วยกิต เนื่องจากจะเห็นได้ว่านักศึกษาต้องมีทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ ซึ่งเราจะเริ่มให้ในเทอมที่ ๒ ของปีการศึกษาแรก รวมทั้งปีการศึกษาที่ ๒ โดยดูจากที่นักศึกษามี ความตั้งใจจริงและเห็นถึงความสำคัญ โดยไม่ได้เน้นว่าจะต้องเรียนเก่งอย่างเดียว โดยจะเน้นคนที่มีความตั้งใจจริง หรือติดปัญหาในบางอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็น ๕๐% ของค่าหน่วยกิต แล้วแต่ประมาณปีละ ๕-๖ ทุน

คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์สมัครเข้าศึกษา

จบปริญญาทางด้านวิทยาศาสตร์ เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการและวิทยาศาสตร์สุขภาพ

อยากฝากอะไรถึงผู้ที่สนใจในหลักสูตรฯ

หลักสูตรนี้เน้นผลิตบุคลากรที่มีจริยธรรมในด้านของการกำหนดอาหาร วิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือคนในสังคมให้มีการบริโภคอาหารและพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมถูกต้อง เพื่อช่วยในการป้องกันและแก้ปัญหาผู้ที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุด จะเห็นได้ว่าปัจจุบันให้ความสำคัญกับอาหารการกินมากขึ้น อาจจะมีการแนะนำอาหารการกินที่ถูกต้องบ้างไม่ถูกต้องบ้าง การที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรฯ นี้นักศึกษาก็จะได้รับความรู้ที่ถูกต้องทางวิชาการ นำไปสู่การพิจารณาเลือกกินอาหารที่เหมาะสมและมีผลดีต่อสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็สามารถกลับไปช่วยเหลือสังคมในด้านนี้ได้

หลักสูตรของสถาบันโภชนการให้ความสำคัญกับศิษย์เก่า เนื่องจากเราเชื่อว่าจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องมีประสบการณ์ตรงกันหลายอย่างสามารถที่จะช่วยกันได้ นักศึกษาปัจจุบันที่อยู่ปี ๒ ก็จะจัดงานยินดีกับรุ่นพี่และรับรุ่นน้องที่จะเข้าใหม่ ซึงจะมีรุ่นพี่อาจจะมาให้ความรู้ และแชร์ประสบการณ์ความรู้ในสิ่งที่จบไปแล้วมีอะไรบ้าง ในช่วงแรกมีการทำเป็นหนังสือ ต่อมาในช่วงหลังจะมีการจัดทำเป็นรูปแบบของ CD เพื่อที่จะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้หลังจากที่จบออกไปแล้ว ซึ่งจะเห็นความสำคัญของเครือข่าย และบ่อยครั้งจะมีนักศึกษาต่างชาติที่จบไปแล้ววิดีโอเข้ามาเยี่ยมมาคุย ทำให้ทุกคนมีความประทับใจในสิ่งนี้กับรุ่นแรกๆ ที่บุกเบิกไปแล้ว

ผู้สนใจเข้าศึกษา สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรได้ที่

หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

งานวิเทศสัมพันธ์ สื่อสารองค์กรและภารกิจพิเศษ และงานรับนักศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ : 02 441 4125 ต่อ 131-137
โทรศัพท์ : 02 441 4125 ต่อ 112-115
อีเมล : panee.nus@mahidol.ac.th

ผู้สนใจเข้าศึกษา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ gradthai@mahidol.ac.th or LINE Official @160ohrzm

สร้างโอกาสของความเป็นผู้นำ ที่สุดของการเรียนรู้กับการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา สร้างโอกาสให้ทุกฝันของคนรุ่นใหม่ ไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่