ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
Master of Science Program in Occupational Health and Safety
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วง ๔ ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้ก่อปัญหาด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในประเทศไทย เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย การใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีรวมถึงการนำเข้าสารเคมีอันตรายมาใช้ในกระบวนการผลิต จึงทำให้เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย เช่น ปัจจัยทางกายภาพ ความร้อน แสง เสียง ปัจจัยเคมี สารเคมีต่างๆ ฝุ่น ฟูม ปัจจัยทางชีวภาพ เชื้อโรคต่างๆ รา แบคทีเรีย และปัจจัยทางการยศาสตร์ และจิตวิทยาสังคม เช่น โรคกระดูกกล้ามเนื้อจากการทำงานที่ไม่ถูกวิธี หรือทำซ้ำ ความเครียดจากการทำงาน เหล่านี้ทำให้เกิดโรคและการเจ็บป่วยจากการทำงานทั้งผู้ประกอบอาชีพทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร
ในปี ๒๔๗๒ ได้มีการพัฒนางานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นทางการ โดยการผลักดันของนักวิชาการ องค์กรเอกชนและจากภาคแรงงาน เพื่อให้รัฐบาลดูแลเอาใจใส่สภาพการทำงานให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยมีการนำพระราชบัญญัติกระทรวงอุตสาหกรรมมาใช้ ถือได้ว่าเป็นกฎหมายด้านอุตสาหกรรมฉบับแรกที่ให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่คนงานที่ทำงานในสถานประกอบการ ปี ๒๔๗๗ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการออกพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๔๗๗ และมีการปรับปรุงใหม่บังคับใช้ในปี ๒๔๘๔ กำหนดให้มีการคุ้มครองสุขภาพและอนามัยของลูกจ้างในสถานประกอบการ และปี ๒๕๑๐ ได้จัดตั้งโครงการอาชีวอนามัย ในระยะเริ่มแรกสังกัดกองช่างสุขาภิบาล และยกฐานะขึ้นเป็น กองอาชีวอนามัย สังกัดกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จากปัญหาต่างๆ ทำให้คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีหัวหน้าภาควิชาคนแรกคือ ศ.แพทย์หญิง มาลินี วงศ์พานิช ได้ก่อตั้ง ภาควิชาอาชีวอนามัย ขึ้นเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ และเป็นผู้บุกเบิกและผลักดันให้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัย ซึ่งแห่งแรกของประเทศไทย
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ภาคอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้เปิดหลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ที่ต้องการพัฒนาบุคคลากรของหน่วยงานให้มีความรู้กว้างขวางทางด้านการวางแผน การตรวจสอบ การตรวจวัด และการประเมินผล การควบคุมด้านความปลอดภัย และสุขภาพอนามัย และทำงานวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี ประกอบกับ พ.ศ. ๒๕๒๘ กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศ เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างลงวันที่ ๖ ใน พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๐๓ นับเป็นก้าวแรกที่มีการกำหนดให้ สปก. มีผู้ดูแลรับผิดชอบด้านความปลอดภัยในการทำงาน (Safety officer)
การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยที่กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๗๗) และ ทิศทางตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ต่อเนื่องจากวิสัยทัศน์แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ยังคงเน้นการพัฒนาที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่มีรายได้สูง มีการกระจายรายได้และการพัฒนาอย่างเท่าเทียม มีระบบนิเวศน์ที่ดี สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นำสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ระยะยาว "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดยอยู่บนรากฐานของกรอบแนวคิดหลักการประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผลจากการพัฒนาประเทศในทิศทางดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบเกิดขึ้นโดยเฉพาะด้านสุขภาพและความปลอดภัยต่อแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์เทคโนโลยี วิธีการทำงาน กระบวนการผลิต และวัตถุดิบหลากหลายที่มีคุณสมบัติเป็นอันตราย รวมถึงความเสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน จากข้อมูลการประสบอันตรายจากสถิติสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม พบว่า จากจำนวนลูกจ้างทั้งหมดประมาณ ๙,๑๓๒,๗๕๖ คน มีจำนวนการประสบอันตรายจากการทำงาน ๑๐๐,๒๓๔ คน โดยมีผู้เสียชีวิต ๖๐๓ คน โดยมีการจ่ายเงินทดแทน (ไม่รวมกรณีที่การวินิจฉัยยังไม่สิ้นสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๗) เป็นเงิน ๑,๒๘๔.๑๐ ล้านบาท ซึ่งสถิติการประสบอันตรายในประเทศไทยยังสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียบางประเทศ
สำหรับแรงงานนอกระบบจากข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ สิ้นเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ จากกลุ่มผู้อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน ๓๘.๙๖ ล้านคนจำแนกเป็นผู้มีงานทำจำนวน ๓๘.๖๖ ล้านคน ทำงานภาคเกษตรกรรมจำนวน ๑๓.๔๖ ล้านคน และทำงานนอกภาคเกษตรกรรม (การผลิต ก่อสร้าง ขนส่ง ขายปลีก บริการ และธุรกิจอื่นๆ) จำนวน ๒๕.๒๐ ล้านคน มีแรงงานนอกระบบ ที่ทำงานทั้งภาคเกษตร ภาคการค้าและบริการ และภาคการผลิต (รวมถึงกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านและผู้ผลิตเพื่อขาย) มีจำนวน ๒๒.๑ ล้านคน ซึ่งมีร้อยละ ๔๒.๔ ที่ได้รับความคุ้มครองหรือมีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน โดยมีปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แรงงานนอกระบบประสบมากที่สุด คือ อิริยาบถในการทำงาน (ไม่ค่อยได้เปลี่ยนลักษณะท่าทางในการทำงาน) ร้อยละ ๓๙.๕ มีฝุ่น ควัน กลิ่น ร้อยละ ๒๕.๖ และมีแสงสว่างไม่เพียงพอร้อยละ ๑๕.๑ สำหรับปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงานที่ประสบเป็นส่วนใหญ่ คือได้รับสารเคมีเป็นพิษ เครื่องจักรเครื่องมือเป็นอันตรายร้อยละ ๖๒.๗ ทำงานในที่สูง ใต้น้ำ ใต้ดิน ร้อยละ ๖.๐
จากสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การพัฒนาทางด้านการผลิตในอุตสาหกรรม หลักสูตรวทม. อาชีวอนามัยและความปลอดภัย จึงผลิตมหาบัณฑิตที่มีความพร้อมในเรื่องความรู้และวิชาการสมัยใหม่เพื่อให้สามารถควบคุมอันตรายต่อสุขภาพให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การพัฒนาหลักสูตรจึงมุ่งเน้นการพัฒนานักวิชาการทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย และด้านการจัดการอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ที่มีความรู้ในทฤษฏีทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ความปลอดภัย การยศาสตร์ การจัดการทางด้านอาชีวอนามัย และทฤษฏีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มหาบัณฑิตมีทักษะในการพัฒนา แนวทาง กลวิธีในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ลดการเกิดโรคจากการทำงาน อุบัติเหตุ และประสานงานร่วมมือกับผู้อื่นได้ มีทักษะการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล การใช้เทคโนโลยีในการสืบค้นข้อมูลและการนำเสนอข้อมูลได้
เป็นหลักสูตรที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในหลักการและทฤษฎีด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สุขศาสตร์อุตสาหกรรม วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นองค์ความรู้พหุวิทยาการ มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ ทำวิจัย ด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย หรือปฏิบัติงานด้านบริหารการจัดการอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ในการคาดการณ์ การตระหนัก การประเมิน การป้องกันและการควบคุมอันตรายในสภาพแวดล้อมการทำงานและสิ่งแวดล้อม
หลักสูตร วทม.อาชีวนามัยและความปลอดภัย มุ่งเน้นให้มีการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน และทักษะที่จำเป็นโดยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้เรียนมีการพัฒนาความรู้ทางวิชาการ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาศักยภาพอย่างมีส่วนร่วม เพื่อดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยของผู้ประกอบอาชีพทั้งมวลและชุมชน โดยประยุกต์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีให้เกิดการพัฒนาความรู้หรือวิธีปฏิบัติงานที่ทันต่อสถานการณ์ได้อย่างดี และภาคปฏิบัติให้เกิดการพัฒนาความรู้หรือวิธีปฏิบัติงานแบบใหม่ได้อย่างดี มีภาวะผู้นำ จรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เปิดสอน ๒ วิชาเอก
เป็นหลักสูตรไทย จัดการศึกษาภาคปกติ ในวันจันทร์ถึงศุกร์ และภาคพิเศษวันเสาร์อาทิตย์
เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ภาคปกติและภาคพิเศษ) แล้ว นักศึกษาจะมีความรู้ความสามารถ ดังนี้
เป็นหลักสูตรในระดับปริญญาโทแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนปริญญาโทสาขาวิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย ผลิตศิษย์เก่าเพื่อพัฒนางานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ที่ทำงานเป็นอาจารย์อยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดการเรียนการสอนด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน ในระดับปริญญาตรี ๓๓ สถาบัน และปริญญาโท ๓ สถาบัน นอกจากนี้ศิษย์เก่ายังพัฒนางานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และองค์กรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
GEOHealth Hub for Occupational and Environmental Health: Improving Agricultural Health in Southeast Asia.
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสามารถหาข้อมูลได้ที่ในเว็บไซต์ของบัณฑิตวิทยาลัย https://graduate.mahidol.ac.th/ นอกจากนั้นสามารถโทรมาสอบถามได้ที่ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ โทร. ๐ ๒๖๔๔ ๔๐๖๙ ต่อ ๑๐๒
ช่วงเวลาเปิดรับสมัคร : ตุลาคม – กุมภาพันธ์ ของทุกปี
สร้างโอกาสของความเป็นผู้นำ ที่สุดของการเรียนรู้กับการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา สร้างโอกาสให้ทุกฝันของคนรุ่นใหม่ ไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่