Faculty / Staff Introduction to graduate programs

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์

ประธานหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์
BIOMEDICAL ENGINEERING (INTERNATIONAL PROGRAM)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์
Image Description
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์
"วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ หนึ่งในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ที่โดดเด่น เน้นบรูณาการ หลักสูตรแบบพหุวิทยาการ (Multidisciplinary) นำความรู้ทางด้านการแพทย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิศวกรรมศาสตร์มาประยุกต์ร่วมกัน เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ได้มาตรฐาน สามารถใช้งานเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อสังคมและประเทศชาติ "

ประวัติความเป็นมา และความสำคัญการจัดทำหลักสูตร

หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นหลักสูตรแรกของภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งหลักสูตร โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจาก Imperial College University of London ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาในประเทศไทย เช่น วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมเคมี และผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมชีวการแพทย์โดยตรงจากประเทศอังกฤษมาร่วมกันจัดทำหลักสูตร จนหลักสูตรได้การยอมรับเป็นที่รู้จักทั้งระดับ ประเทศและนานาชาติ และได้ทำการเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาเอก เพื่อเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง

ความโดดเด่น จุดเด่นหรือเอกลักษณ์ของหลักสูตรที่ต่างจากที่อื่น

ความโดนเด่นของหลักสูตร คือ ความใหม่ คนไทยไม่รู้ว่าเราขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ และอาจไม่รู้ว่าหน้าที่การออกแบบนวัตกรรมเครื่องมือการแพทย์ เครื่องมือผ่าตัดในระดับขั้นสูง คนที่ออกแบบ คือ คนที่ควบคุมวิศวกรรมชีวการแพทย์ ซึ่งไทยเราใช้ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศมาตลอด ตรงนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง คนที่จะมาดูแลเครื่องมือ ให้คำแนะนำว่าเครื่องมือไหนน่าซื้อหรือเหมาะ เครื่องมือแพทย์บางประเภทราคาค่อนข้างสูง และระบบที่เรียกว่า feature function การใช้งานบางครั้งเราไม่ได้ใช้ แต่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราควรใช้หรือไม่ควรใช้ ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ เขาไม่ได้เข้าใจความเป็นธรรมชาติของคนไทย ไม่แน่ใจว่าเราต้องการอะไร ตรงนี้คือบทบาทของวิศวกรเครื่องมือการแพทย์ที่จะมาช่วย อีกอย่างหนึ่งเราจะพบเห็นในห้องผ่าตัด ที่มีการใช้เครื่องมือระดับสูง ฝังลงไปในร่างกาย เช่น pacemaker ฝังในสมอง ซึ่งต้องใช้วิศวกรเครื่องมือการแพทย์มาควบคุมดูแลเพื่อทำงานร่วมกับคุณหมออย่างใกล้ชิด จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้วิศวกรที่เชี่ยวชาญทางด้านร่างกายของคน ตอนนี้ในภาคอุตสาหกรรม medical hub หากจะเป็น medical half นโยบายคงไม่ได้มองแค่การบริการของโรงพยาบาล โรงพยาบาลมีเครื่องมือมากมาย เครื่องมือเหล่านั้นมาจากไหน และการเป็น medical hub เครื่องมือต้องซื้อมาทั้งหมดหรือเปล่า ซึ่งตอบได้เลยว่าไม่ควรที่จะต้องซื้อเครื่องมือมาทุกอย่าง เพราะถ้าเกิดอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยนั่นคือ medical hub ที่สมบูรณ์แบบ เครื่องมือแพทย์เสีย ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งไปต่างประเทศ เราสามารถทำงานได้เลย และการเป็น medical hub service โรคต่างๆ เราต้องรู้หมด การรักษาต้องทันท่วงทีด้วยเทคโนโลยีใหม่ การคิดนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคบางอย่าง ถ้าเราทำเองได้จะทำให้เราสมบูรณ์ในการ medical hub ขณะเดียวกันประเทศไทยมีพื้นที่มีนิคมอุตสหกรรม มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย เรามีความได้เปรียบตรงนี้ แต่สิ่งที่เราขาด คือ บุคลากร ซึ่งถ้ามี Biomedical Engineer ดูแลเครื่องมือการแพทย์ และอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ครบวงจร ทำให้มีความรู้สึกว่าตรงนี้สามารถช่วยประเทศได้อย่างแท้จริง มุมมองของต่างประเทศ หลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพของเรามีความแตกต่าง ประเทศไทยมีโรคที่เฉพาะเจาะจง ลักษณะสรีระของมนุษย์โซนเอเชีย ซึ่งไม่เหมือนโซนยุโรป หลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นหลักสูตรที่มองความต้องการทางการแพทย์ของประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านในโซนเอเชีย ซึ่งคงไม่มีใครสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้นอกจากเรา ยกตัวอย่าง เช่นเรื่อง meditation ตรงนี้ไม่มีประเทศไหนที่จะเข้าใจการทำสมาธิของประเทศไทย บางครั้งอาจจะมองว่าการทำสมาธิไม่เกี่ยวกับการแพทย์ ผมเคยทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เคยคุยและแชร์ร่วมกัน ทำอย่างไรจะให้คนไข้ได้รับออกซิเจนเยอะๆ จึงต้องคิดนวัตกรรมบางอย่างขึ้นมา เพื่อที่จะให้ไปจับออกซิเจน การนั่งสมาธิ การนั่งสมาธิมีหลายแบบ ที่สำคัญอุปกรณ์บางอย่างที่หลักสูตรฯ สร้างคิดค้นขึ้นมาไม่หมือนกับต่างประเทศ นอกจากนี้หลักสูตร ของเราจะมีรายวิชาเลือกต่างๆ ที่เหมาะสมกับช่วงแต่ละเวลา และหลักสูตรได้เชิญผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาสอน ๒-๓ เดือน เราสามารถปรับคอร์ส ให้เหมาะสมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้เรียน

และสิ่งสำคัญคือ หลักสูตรอยากให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เช่น ช่วงนี้มีโรคระบาด เราอยากให้นักศึกษาได้ศึกษาโรคและพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยในการรักษา จึงนำเรื่องนี้มาใส่เสริมในบทเรียน นี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของหลักสูตร เรามีวิชาที่ dynamic ไม่ใช่วิชาที่ Fix โดยตรง วิชาที่ Fix มีแต่เป็นวิชาพื้นฐาน สร้างพื้นฐานที่ดีและต่อเติมความท้าทายในวิชาเลือกเข้าไป ตรงนี้ทำให้นักศึกษาหลายคนมีพลังที่จะเรียน แต่ละคนจะมีวิชาเลือกของตนเอง วิชาเลือก กรุ๊ปเป็น ๖ สาขาด้วยกัน ตามสาขาวิจัยของแต่ละห้องปฏิบัติการ ประกอบไปด้วย ๑. Bio-Signal and Image Processing ๒. Tissue Engineering and Drug Delivery Systems ๓. Advanced Computing in Medicine ๔. Rehabilitation Engineering and Artificial Organs ๕. Robotics and Computer-Integrated Surgery ๖. Biosensors and Instrumentations การเลือกเรียนวิชาเลือก จะสอดคล้องกับสาขาที่นักศึกษาเลือก อาจารย์จะมีการทำงานแบบบูรณาการมากกว่าสหวิทยาการ อาจารย์บางคนเชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ บางคนเชี่ยวชาญเคมี บางคนเก่งเครื่องกลและไฟฟ้า เมื่อมารวมกันจะเกิดทฤษฎีใหม่ๆ ปัจจุบันหลักสูตรสนับสนุนให้ทำวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อศึกษาในเชิงลึก ซึ่งนักศึกษาอาจจะไปพบบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ซ้ำกับใคร ผมมองว่าสิ่งนี้จะเกิดประโยชน์แก่นักศึกษา เป็นสิ่งที่นักศึกษาปัจจุบันมองหาและเป็นศาสตร์ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้

ปัจจุบันนี้หลักสูตรสามารถผลิตนักศึกษาต่อปีได้เพียงพอต่อความต้องการในเอเชียหรือไม่

หลักสูตรมหาบัณฑิตปีหนึ่งจะมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษา ประมาณ ๔ – ๕ คน ขณะนี้อาจจะยังไม่เพียงพอต่อภาค อุตสาหกรรม ปัจจุบันหลักสูตรมี Partner สมาคม เพื่อนๆ อยู่หลายมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนและผลิตบัณฑิตก็ได้ใกล้เคียงกัน จุดนี้ หลักสูตรมีความต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพที่จะผลิตบัณฑิตให้ได้มากขึ้นและผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ อีกทั้งไม่มองข้ามเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งจะต้องมีให้เพียงพอกับจำนวนนักศึกษา ให้ทุกคนได้ฝึกทักษะอย่างแท้จริง และขณะนี้หลักสูตรกำลังหาอาจารย์รุ่นใหม่ๆ เข้ามาสอน เพื่อรองรับการเพิ่มอัตราการรับนักศึกษาที่จำนวนมากขึ้น พร้อมหา partner ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ คือการทำ double degree ซึ่งหากนักศึกษามาเรียนกับหลักสูตรและลงทะเบียนเรียน ได้ครบตามที่กำหนด ก็จะรับปริญญา ๒ ใบ

สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับ หรืออาชีพที่นักศึกษาสามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับจากมหาวิทยาลัยมหิดล ในสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คือ หลักสูตรสร้างสิ่งแวดล้อม สร้าง culture ที่เป็นงานวิจัยอย่างแท้จริง เราเปิดห้องปฏิบัติการ ๒๔ ชม. เราถือว่าห้องปฏิบัติการเป็น วัฒนธรรมแต่ละคนก็อาจจะอยากทดลอง เก็บผลการทดลองของตนในช่วงเช้า เย็น หรือกลางคืนได้ และที่สำคัญผลงานวิจัยที่ได้ จะต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับมวลมนุษยชาติได้อย่างแท้จริง ดั่งพระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนก ผลงานวิจัยของนักศึกษาเรา ได้มีโอกาสมอบให้แก่ผู้ด้อยโอกาส เช่น ในพื้นที่ชุมชน ไปทดสอบในโรงพยาบาล ตรงนี้เป็นประโยชน์โดยตรง ตอบโจทย์ให้กับโรงพยาบาล และชุมชน ที่ต้องการใช้นวัตกรรมจากเครื่องมือการแพทย์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากนักศึกษา และหากพบหรือทราบว่าคนไข้ต้องการ และรอที่จะใช้อุปกรณ์ นวัตกรรมของนักศึกษาอยู่ นักศึกษาสามารถทำงานได้ ๒๔ ชั่วโมง ตรงนี้จะทำให้นักศึกษารู้สึกว่าทุกนาทีมีค่า นอกจากนี้หลักสูตรยังได้สร้างสิ่งแวดล้อมและมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยแชร์ประสบการณ์กัน อาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาแต่ละคน มาจากหลากหลายสาขา หนึ่งในนั้นต้องมีคุณหมออยู่ด้วย ซึ่งคุณหมอจะนำ product หรืออุปกรณ์ที่นักศึกษาสร้างนี้ไปใช้งานจริง เป็นการตอบโจทย์การทำวิทยานิพนธ์ และผู้อ่าน กรรมการสอบมาจากหลากหลายสาขา มีทั้งผู้ใช้วิศวกรรมทางการแพทย์ นักศึกษาจะได้ความรู้ตรงนี้และสามารถนำความรู้ทำนวัตกรรมจริงไปใช้งานได้ ถือเป็นการเรียนรู้อย่างแท้จริง ซึ่งการเรียนรู้ที่แท้จริงนั้นไม่ได้เกิดจากการอ่านตำรา แต่มาจากการค้นคว้า การวิจัย เมื่อนักศึกษาจบการศึกษาไปแล้ว บางคนไม่ได้ทำงานตรงกับที่เรียน แต่นักศึกษาสามารถทำงานตามที่ได้รับโจทย์ได้อย่างที่กล่าว หลักสูตรมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้มีความรู้และนำมาใช้เกิดประโยชน์ได้จริง นักศึกษาของเราเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมหรือทำงานที่ไหนได้บ้าง กลุ่มแรก ช่วยเหลือโรงพยาบาลของเราไม่ให้มีค่าใช้จ่ายสูง สามารถดูแลให้คำแนะนำ การจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมือทางการแพทย์ หรือออกแบบ พัฒนาเครื่องมือแพทย์ โดยอยู่ในโรงพยาบาลหรือโรงงานผลิตเครื่องมือการแพทย์ หรือบางคนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ ไปทำงานในบริษัทเครื่องมือแพทย์ของไทยและต่างประเทศ หรือไปเป็นผู้กำหนดนโยบายในหน่วยงานราชการ ไปช่วยออกกฏหรือควบคุมการทำงานเครื่องมือการแพทย์ การซื้อ การพัฒนา หรือไปทำงาน FDA ให้สำนักงาน อย. และอีกอย่างที่เรามุ่งเน้น คือการไปเป็นนักวิจัย นักวิจัยไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเท่านั้น นักวิจัยสามารถอยู่ในบริษัท กระทรวงวิทยาศาสตร์ หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนได้ ที่ต้องการที่จะผลิตอะไรเองขึ้นมาใหม่ๆ การเรียนของหลักสูตรเน้นกับนักศึกษาตลอดว่า ปัจจุบันโลกเรายุคอินเทอร์เนต คุณไม่จำเป็นต้องทำงานในเมืองไทย คุณสามารถไปทำงานทั่วโลกได้ หลักสูตรจึงมุ่งเน้นด้านภาษาอังกฤษ ทั้งการสื่อสาร การพูด และ soft skill นักศึกษาจะได้สิ่งนี้ โจทย์ต่อไปทำอย่างไรนักศึกษาจะคุ้นเคย และสามารถไปทำงานยังต่างประเทศได้ หลักสูตรจึงจัดหาทุนแลกเปลี่ยนในประเทศญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป บางทุนจะเป็นทุนที่ทางมหาวิทยาลัยสนับสนุน จากอาจารย์ในภาควิชาบ้าง นักศึกษาของหลักสูตรจึงมีโอกาสไปเรียน ไปทำการวิจัยแลกเปลี่ยนที่สถาบันต่างประเทศตลอดเวลา ทำให้นักศึกษารู้ว่าการทำงานที่ต่างประเทศไม่ได้ยากอย่างที่คิด

ทุนการศึกษา

หลักสูตรมีทุนการศึกษาจำนวนมาก ประกอบไปด้วยทุนภายในของภาควิชา ทุนสำหรับนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี นักศึกษาบางคนเข้ามาเกรดอาจจะไม่ได้ แต่สามารถที่จะขอทุนในปีการศึกษาถัดไปได้ หากพิสูจน์ว่าตัวเองสามารถพัฒนาและอาจารย์มองเห็นว่ามีศักยภาพ ทุนวิจัยจากภาครัฐ สภาวิจัยแห่งชาติ หรือ สคบ. ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านจะมีทุนวิจัยอยู่ อีกหนึ่งทุนที่สำคัญ คือ ทุนแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ ซึ่งมีมาเรื่อยๆ หลักสูตรมีการเขียนของทุนหรือมหาวิทยาลัยสนับสนุนส่งทุนหรือ call for Scholarship ต่างๆ ตรงนี้มาให้ นักศึกษาสนใจเข้ามาคุยกับอาจารย์โดยตรง ซึ่งจะสามารถแนะนำได้ว่านักศึกษาเหมาะกับทุนไหน นอกจากนั้นหลักสูตรยังได้สนับสนุนทุนการเรียนตั้งแต่ ป.โท ไปถึง ป.เอก

รางวัลหรือความภาคภูมิใจของภาควิชา

หลักสูตรได้รับรางวัลมากมายจากผลงานของนักศึกษาและอาจารย์ ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ โดยไปร่วมประกวดนวัตกรรมด้านต่างๆ เช่น ด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ ตรงนี้อาจารย์เชื่อมด้านการแพทย์กับวิทยาศาสตร์การกีฬาร่วมกัน และเราสามารถสร้างอุปกรณ์ที่ส่งเสริมกีฬาได้ ทางด้าน computer medicine ซึ่งตอนนี้กำลังมาแรง ผลงาน หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติกฯลฯ รางวัลจากสมเด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รางวัลไอครีเอท ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเรียนว่ารางวัลเหล่านี้เป็นส่วนที่เติมเต็มกับความฝันของนักศึกษา ที่นักศึกษาจะได้รับความน่าเชื่อถือต่างๆ เรามองว่า รางวัลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กมีกำลังใจและพัฒนาหลักสูตรของเราไปด้วย

สิ่งที่อยากฝาก เชิญชวน และประชาสัมพันธ์สำหรับผู้ที่สนใจ

การเรียนการสอนในวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ หลักสูตรอยากได้นักศึกษาที่มีความฝันในสิ่งที่เขาอยากทำ บางคนมองว่า ตัวเองไม่มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ เคมี หลักสูตรขอประชาสัมพันธ์ หากคุณเรียน คุณจะได้เรียนรู้ทั้ง ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และคณิตศาสตร์ ถ้าหากขาดบางอย่างอะไรไป ไม่ต้องกังวลไม่มีปัญหา บางที่มีคุณหมอ มีวิศวกรมาเรียนกับหลักสูตร เขาจะได้เรียนในสิ่งที่เขาไม่รู้ ถ้าคุณเป็นวิศวกรคุณก็ควรจะเรียน logistics กับ anatomy ไปด้วย ถ้าคุณมาทางการแพทย์ หลักสูตรก็จะเสริมด้านคณิตศาสตร์และอิเล็กทรอนิคเข้าไปด้วย หลักสูตรนี้ต้องการคนที่มีความฝัน คุณอยากเป็นนักพัฒนาคุณอยากทำให้ประเทศเราเจริญขึ้น อยากที่จะเสริมบางสิ่งบางอย่างที่ประเทศเราขาดแคลน เรามาเสริมสร้างไปด้วยกัน มาสร้างวัฒนธรรมการพัฒนานวัตกรรมไปด้วยกัน เพื่อให้ประเทศไทยอยู่ด้วยความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ผู้สนใจเข้าศึกษา สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรได้ที่

หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

งานวิเทศสัมพันธ์ สื่อสารองค์กรและภารกิจพิเศษ และงานรับนักศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ : 02 441 4125 ต่อ 131-137
โทรศัพท์ : 02 441 4125 ต่อ 112-115
อีเมล : panee.nus@mahidol.ac.th

For more inqueries & assistants, please call us gradinter@mahidol.ac.th or LINE Official @160ohrzm

To enable academic, professional,as well as career development programs to produce nationally and internationally competence human resources for 21st century