Prospective Student Introduction to graduate programs

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเวชศาสตร์ปริวรรต หลักสูตรนานาชาติ

อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเวชศาสตร์ปริวรรต หลักสูตรนานาชาติ
Doctor of Philosophy Program in Translational Medicine (International Program)
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์ ดร. พญ. ณฐินี จินาวัฒน์
Image Description
อาจารย์ ดร. พญ. ณฐินี จินาวัฒน์
"หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเวชศาสตร์ปริวรรต เป็นหลักสูตรพหุวิทยาการ (multidisciplinary) บูรณาการความรู้ระหว่างวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science) และวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (clinical science) มุ่งผลิตบัณฑิตที่เป็นแพทย์นักวิจัย (physician scientists) นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เวชศาสตร์ปริวรรต (translational research scientists) และ นักวิจัยและพัฒนาที่สังกัดภาครัฐหรือภาคเอกชน (R&D scientists) ให้เป็นผู้มีความรู้ มีความเป็นเลิศทางวิชาการ สามารถพัฒนางานวิจัยที่เชื่อมโยงความรู้ในลักษณะสหสาขาวิชา และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงทางคลินิก เพื่อพัฒนาวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วย ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตลอดจนเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางด้านสาธารณสุขของประเทศ (from bench to bedside to community)"

ความเป็นมาความสำคัญของหลักสูตร

เวชศาสตร์ปริวรรต เป็นชื่อภาษาไทยที่ราชบัณฑิตสถานได้ให้ความหมายมากับคำว่า Translational Medicine ซึ่งเป็นสาขาวิชาแรกและวิชาเดียวที่เปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย โดยเปิดการเรียนการสอนมาเป็นเวลา ๔ ปีนับจาก พ.ศ.๒๕๕๖ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเวชศาสตร์ปริวรรต เป็นหลักสูตรพหุวิทยาการ (multidisciplinary) บูรณาการความรู้ระหว่างวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science) และวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (clinical science) มุ่งผลิตบัณฑิตที่เป็นแพทย์นักวิจัย (physician scientists) นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เวชศาสตร์ปริวรรต (translational research scientists) และ นักวิจัยและพัฒนาที่สังกัดภาครัฐหรือภาคเอกชน (R&D scientists) ให้เป็นผู้มีความรู้ มีความเป็นเลิศทางวิชาการ สามารถพัฒนางานวิจัยที่เชื่อมโยงความรู้ในลักษณะสหสาขาวิชา และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงทางคลินิก เพื่อพัฒนาวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วย ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตลอดจนเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางด้านสาธารณสุขของประเทศ (from bench to bedside to community) ในหลักสูตรฯ จะเน้นการทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาที่พบในทางคลินิก โดยสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนหลัก คือ งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science research) งานวิจัยทางคลินิก (clinical research) และงานวิจัยที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ (translational research)

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

  • เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science) กับการเกิดโรค

  • สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science) กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์คลินิก (clinical science)

  • สามารถทำวิจัยโดยเลือกใช้ระเบียบวิธีการวิจัย และออกแบบการทดลองเพื่อทดสอบสมมติฐานที่เกิดขึ้นในทางคลินิกได้อย่างถูกต้อง

  • สามารถทำงานเชื่อมโยงกับแพทย์ที่ทำงานด้านคลินิก, แพทย์นักวิจัย, นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการ, นักชีวสารสนเทศ (bioinformatician), วิศวกรการแพทย์ (biomedical engineering) และบุคลากรที่ทำงานในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยเวชศาสตร์ปริวรรต

จุดเด่นของหลักสูตร

  • เน้นการวิจัยเชิงบูรณาการระหว่างงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic research) กับงานวิจัยทางคลินิก (clinical research) โดยมีเป้าหมายเพื่อการนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงทางคลินิก เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและมีความสนใจทำงานวิจัยทางเวชศาสตร์ปริวรรต

  • โรงพยาบาลรามาธิบดีมีผู้ป่วยหลากหลายและมีตัวอย่างทางคลินิก เช่น เลือดและสารคัดหลั่ง ชิ้นเนื้อของผู้ป่วยที่เหลือจากการใช้เพื่อช่วยวินิจฉัยโรค ทำให้มีความพร้อมในการทำวิจัยด้านเวชศาสตร์ปริวรรตสูง การทำงานวิจัยที่ใช้ตัวอย่างทางคลินิกจะช่วยให้เกิดความเข้าใจปัญหาทางคลินิกได้อย่างลึกซึ้งและสามารถตอบโจทย์งานวิจัยได้ตรงเป้า

  • เป็นทางเลือกสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติ ที่มีความสนใจในการทำวิจัยเชื่อมโยงระหว่าง basic research กับ clinical research และต้องการศึกษาต่อ

หลักสูตรสาขาวิชาเวชศาสตร์ปริวรรต (Translational Medicine) มีข้อเด่นของหลักสูตร คือ

  • เป็นที่แรกที่เปิดให้นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้หลักการในการทำวิจัยที่นำความรู้ด้าน basic science ที่ได้จากการทำวิจัยในห้องปฏิบัติการวิจัย (laboratory) มาพัฒนาเป็นผลงานที่ไปใช้ในคนไข้ได้จริง หรือในทางกลับกันคือนำปัญหาทางคลินิกมาเป็นโจทย์วิจัย เพื่อวิจัยหาวิธีการวินิจฉัยและรักษาแบบใหม่ ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น นอกจากนี้ จุดเด่นของหลักสูตรฯ คือตั้งอยู่ในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทำให้สามารถปรึกษาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และทำงานร่วมกันกับแพทย์ที่ดูแลคนไข้ได้ตลอด นอกจากการทำวิจัยในห้องปฏิบัติการแล้วนักศึกษาของหลักสูตร จะได้ศึกษาปัญหาทางคลินิกจากคนไข้โดยตรง ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่ดูแลคนไข้ในโรงพยาบาล ทั้งนี้เพื่อให้สามารถคิดหาโจทย์วิจัยที่ตัวเองสนใจได้ด้วยตนเอง

  • ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดบุคลากรที่สามารถทำงานร่วมกับทั้งนักวิทยาศาสตร์ในห้อง Lab และแพทย์เวชปฏิบัติได้ การพูดคุยสื่อสารกับนักวิทยาศาสตร์ หรือแพทย์ ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความเข้าใจในงานทั้งสองด้าน เราจึงมุ่งผลิตบุคลากรที่ทำงานในลักษณะของเวชศาสตร์ปริวรรต เพื่อลดช่องว่างระหว่างการสื่อสารและทำงานร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับแพทย์เวชปฏิบัติได้

  • หลักสูตรสนับสนุนให้เกิดผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าสูงสุดกับวงการแพทย์ เนื่องจากหลักสูตรมีการทำงานร่วมกันที่ดีกับทางแพทย์ที่ดูแลคนไข้ (แพทย์เวชปฏิบัติ) การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เป็นการบูรณาการความรู้ ทำให้เกิดการสร้างงานวิจัยจากปัญหาทางคลินิกที่เกิดขึ้นจริงร่วมกัน ซึ่งงานวิจัยที่สำเร็จจะถูกนำไปในใช้การพัฒนาดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับเมื่อเข้ามาศึกษา และจบการศึกษาออกไป

หลังจากนักศึกษาสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถนำองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เรียนรู้ไปปรับใช้ได้จริง วิชาต่างๆ ใน coursework ของหลักสูตรจะเน้นความเข้าใจกลไกการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ในระดับโมเลกุลและเซลล์ นอกจากนี้ยังเน้นการใช้เทคโนโลยีชีวการแพทย์สมัยใหม่เพื่อทำการวิจัยด้านเวชศาสตร์ปริวรรตในปัจจุบัน การทำงานวิจัยแบบบูรณาการที่เกิดขึ้นในหลักสูตรฯ จะช่วยกระตุ้นให้นักศึกษามีความคิดมีระเบียบวิธีวิจัยและการวิเคราะห์ที่เป็นระบบ เพื่อผลิตผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมไปช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และข้อดีที่สุดคือ นักศึกษาของเรามีโอกาสที่จะลงไปสังเกตการณ์พร้อมกับอาจารย์แพทย์ที่ลงตรวจรักษาคนไข้ ในหน่วยตรวจผู้ป่วยนอก โดยอาจารย์แพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูล เช่น คนไข้ที่มาตรวจรับการรักษาเป็นโรคอะไร ปัญหาหลักๆทางคลินิกของผู้ป่วยคืออะไร ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคิดร่วมกันกับอาจารย์แพทย์ในงานวิจัย ให้นักศึกษาได้เห็นปัญหาที่แท้จริงด้วยตนเอง ซึ่งทางหลักสูตรคิดว่า วิธีการสอนและการปฏิบัติจริงนี้จะช่วยให้นักศึกษาสนใจในสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้น เห็นภาพวัตถุประสงค์การวิจัยชัดเจนขึ้น เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทุนการศึกษา

หลักสูตรเวชศาสตร์ปริวรรต เป็นหลักสูตร International รับทั้งนักศึกษาไทยและต่างชาติ ในปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้จัดหาและเพิ่มทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติ เปิดโอกาสทางการศึกษา สนับสนุนให้ผู้ที่มีความสนใจที่ต้องการเข้าศึกษาต่อทางด้านนี้ได้เข้ามาศึกษา เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสู่การปฏิบัติใช้ได้จริงทางคลินิก ทั้งระดับปัจเจกและในระดับชุมชน ครอบคลุมบริบทของการวินิจฉัยรักษาและการป้องกันโรค และเพื่อการวิจัยและพัฒนางานในศาสตร์ด้านนี้ นอกจากนี้บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหิดลยังสนับสนุนให้ทุนการศึกษาในด้านต่างๆ อีกจำนวนมาก

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

แบ่งออกเป็นการทำงานทางด้าน academia โดยเป็นอาจารย์หรือครูในสถานศึกษา หรือเป็นผู้ให้ความรู้ทางด้าน Translational Medicine แก่หน่วยงานภาครัฐ เช่น สถาบันวิจัย กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันบริษัทเอกชนต่างๆ จะเป็นตัวแทนรับนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางชีวการแพทย์จากต่างประเทศเข้ามามากกว่าที่จะผลิตคิดค้นเองในประเทศ บริษัทเหล่านี้ต้องการผู้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีทางชีวการแพทย์ หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านเวชศาสตร์ปริวรรตมาทำงานร่วมกับทีม เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าของบริษัท และในอนาคตประเทศไทยจะมีโครงการ Thailand 4.0 ที่เน้นการผลิตยา หรือเทคโนโลยีใหม่ทางชีวการแพทย์ต่างๆ ได้เองในประเทศมากขึ้น ซึ่งบุคลากรด้านนี้ยังขาดแคลนอยู่มาก ดังนั้นนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร จะเข้าไปทำงานตรงนี้ได้ดี ด้วยนักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมแบบบูรณาการ (multidisciplinary) มีทักษะการสื่อสารที่ดีกับบุคลากรเฉพาะทางหลายๆ ด้าน มีความรู้ในเรื่องของ basic science เทคนิคการทำการทดลองในห้องปฏิบัติการเชิงลึก และทราบถึงวิธีการที่จะนำความรู้ไปใช้ได้จริง หรือตอบโจทย์งานวิจัยทางคลินิกที่เหมาะสมได้ดี

เชิญชวนผู้ที่สนใจ ที่จะเข้ามาศึกษาในหลักสูตร และต้องการนักศึกษาที่จบอะไรมาบ้าง

กลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าศึกษา

  • แพทย์ หรืออาจารย์แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เภสัชกร นักศึกษาโครงการ PhD. MD.

  • บัณฑิตสายวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และสายวิทยาศาสตร์ทั่วไป

  • แพทย์ หรือบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และสายวิทยาศาสตร์ทั่วไป จากต่างประเทศ

เนื่องจากหลักสูตรเราเปิดกว้าง เน้นเรื่องการนำองค์ความรู้ทาง Basic science ไปพัฒนาต่อยอดการดูแลรักษาผู้ป่วย เพราะฉะนั้นโจทย์วิจัยของหลักสูตรจึงค่อนข้างกว้างและสามารถรับผู้สนใจที่จบจากหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นผู้จบทางด้านวิชาชีพ อาทิ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ วิศวกร ซึ่งถ้ามีความสนใจที่จะนำความรู้วิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ไปพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น หรือมีความสนใจที่จะมาพัฒนาอะไรใหม่ๆให้กับผู้ป่วยชาวไทย ทางเราก็ยินดีต้อนรับ

ผู้สนใจเข้าศึกษา สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรได้ที่

หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

งานวิเทศสัมพันธ์ สื่อสารองค์กรและภารกิจพิเศษ และงานรับนักศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ : 02 441 4125 ต่อ 131-137
โทรศัพท์ : 02 441 4125 ต่อ 112-115
อีเมล : panee.nus@mahidol.ac.th

For more inqueries & assistants, please call us gradinter@mahidol.ac.th or LINE Official @160ohrzm

To enable academic, professional,as well as career development programs to produce nationally and internationally competence human resources for 21st century