Prospective Student Introduction to graduate programs

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ภาคพิเศษ)

ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ภาคพิเศษ)
วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ ดร. ทวี เชื้อสุวรรณทวี
Image Description
รองศาสตราจารย์ ดร. ทวี เชื้อสุวรรณทวี
"หลักสูตรปริญญาเอก สาขาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ภาคพิเศษ) จัดการเรียนการสอน โดย ภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ วิทยาลัยราชสุดา และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล การเรียนการสอน หลักสูตรเน้นการบูรณาองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ ที่ผู้เรียนมีอยู่บวกกับความรู้หรือศาสตร์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ และเป็นการผสมผสานแบบแผนการแพทย์และสังคมเข้าด้วยกัน (Medical and social model) เพื่อให้ผู้เรียนมีวิสัยทัศน์ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของสังคมไทย และสังคมโลกบนพื้นฐาน ของการคำนึงถึงศักดิ์ศรี ความเท่าเทียม และสิทธิพลเมืองของคนพิการ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ทวี เชื้อสุวรรณทวี เป็นประธานหลักสูตรฯ "

ความเป็นมาความสำคัญของหลักสูตร

หลักสูตรมุ่งเน้นให้ผู้เรียนที่มีฐานความรู้เดิมของตนในทุกศาสตร์สาขา และสามารถใช้ศาสตร์ หรือความถนัดของตนที่มีอยู่มาต่อยอดเชื่อมโยงกับความรู้ สอดประสานการทำงาน เน้นสู่สากล มุมมองการต่อยอดความรู้ เนื่องจากองค์ความรู้เรื่องคนพิการ หรืองานวิจัยเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีความหลากหลายมาก ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่มีการผลิตซ้ำ ความรู้เดิมๆ เป็นลักษณะการวิจัยแบบพื้นฐาน ลักษณะสำรวจ ตรวจหาบ้าง ส่วนงานวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงๆ มีน้อย และถึงแม้บางสาขาวิชาชีพ จะมีการศึกษาค้นคว้าเจาะ ลึก และได้ผลในห้องปฏิบัติการ หรือบริบทเฉพาะ แต่ยังขาดการขยายผลไปสู่บริบทอื่นๆ หรือขาดการประสานเชื่อมต่อบูรณาการของศาสตร์ต่างๆ และการต่อยอดงานวิจัย ในส่วนของปริญญาเอก นอกจากต้องเป็นการวิจัยเชิงลึกลงไปแล้ว ต้องการสร้างคนที่จบออกไปแล้ว ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ รู้จักประยุกต์ความถนัดความรู้ของตนเองที่มีอยู่กับศาสตร์อื่นๆ งานคนพิการไม่ใช่งานเชิงเดี่ยว ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วน ไม่ว่าจะเป็นคนพิการเอง ครอบครัว โรงเรียน เพื่อน ผู้นำชุมชน นักวิชาชีพ นักวิชาการ ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ แพทย์ พยาบาล และเมื่อเขามีสุขภาพดีแล้วก็ต้องเรียน ทั้งครู อาจารย์ เพื่อน เป็นสิ่งสำคัญ เรียนจบต้องออกไปทำงาน ทำงานก็ต้องมีเพื่อนร่วมงาน มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อเขา สังคมโดยรวมต้องต้อนรับเขา นายจ้าง เพื่อนร่วมงาน ปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลักสูตรฯ ต้องการเน้น อีกทั้งหลักสูตร ต้องทำงานร่วมกับคนพิการ จึงจำเป็นต้องยึดคนพิการเป็นศูนย์กลาง เรียนรู้ที่จะทราบถึงความต้องการและปัญหาของเขา

ส่วนสุดท้าย คือ เน้นสู่สากล มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย เรื่องของการเข้าสู่มหาวิทยาลัยโลก หลักสูตรต้องผลิตนักศึกษาที่นอกจากจะผลิตให้รับใช้คนไทย คนพิการไทยได้แล้ว ต่อยอดเป็นแล้ว ผลงานวิจัยระดับปริญญาเอกก็จะชี้นำความเป็นวิชาการและนำไปสู่สากลได้ ในเรื่องของการตีพิมพ์การแสดงตัวในเวทีโลก

จุดเด่นของหลักสูตร

หลักสูตรนี้ เป็นหลักสูตรแรกของโลกที่ใช้ชื่อ Quality of Life Development for Persons with Disabilities คือ คือ สาขาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ถ้าดูในรายละเอียดของหลักสูตร ดังกล่าวตอนต้นว่า เป็นการผนวกรวม แบบแผนทางสังคม( Social model) อาทิ ประเด็นสิทธิ ความเท่าเทียมของคนพิการ และการแก้ไขอุปสรรคทางสังคม ความเชื่อ การออกแบบสภาพแวดล้อม การศึกษา การมีอาชีพและงานทำของคนพิการ กับ แบบแผนทางการแพทย์ (Medical model) อาทิ กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพ การแก้ไขความพิการ เครื่องช่วย และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เป็นต้น มีหลักสูตรที่ใกล้เคียงกับหลักสูตรนี้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เช่น หลักสูตร ปริญญาเอกสาขา "Rehabilitation Sciences" ณ University of Illinois at Urbana ซึ่งมีฐานคิดมาจาก Medical model อีกกลุ่ม เป็นหลักสูตรปริญญาเอกสาขา "Disability Studies" ณ University of Washington ซึ่งมีฐานคิดบนแบบแผนทางสังคม ซึ่งหลักสูตรของวิทยาลัยราชสุดานี้ แม้จะมิติผสมแบบแผนทางการแพทย์อยู่ แต่ก็เอนเอียงมาทางกลุ่มนี้มาก คือ เน้นเรื่องปัญหาการแตกหักบนสังคม อุปสรรคทางสังคม เพราะเชื่อว่าหากเน้นเรื่องการเยี่ยวยาตัวคน ความพิการเพียงมิติเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เป็นต้นว่าหากมองว่าคนพิการมีปัญหาด้าน Physical หรือ Impairment พยายามแก้ไขสภาพข้อบกพร่องของคนพิการ คนที่เดินไม่ได้ ทำอย่างไรให้เขาเดินได้ ใส่ขาเทียม ฟื้นฟู คนตาบอด มองไม่เห็น หาวิธีทางการแพทย์ช่วยให้เขามองเห็นได้ชัด คนหูหนวก ใส่เครื่องช่วย โดยเชื่อว่า หากเขาได้รับการช่วยเหลือจะหมดปัญหาเรื่องความพิการ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะคนพิการเหล่านี้แม้จะใส่ขาเทียม นั่งวิลแชร์ไปไหนมาไหนได้ ได้รับการฟื้นฟูอย่างดีจากโรงพยาบาล แต่เมื่อออกไปข้างนอกสู่สังคม สังคมอาจไม่ต้อนรับ ภาพลักษณ์ที่เป็นอยู่เดิม เช่น เป็นหัวหน้าครอบครัวทำงานได้ ปัจจุบันทำงานไม่ได้ มีปัญหาการเดินทาง ไม่ได้รับการการต้อนรับในที่ทำงาน เพราะฉะนั้นชีวิตเขาจึงเปลี่ยนไป ตรงนี้คือ Social Model นอกจากปัญหาสภาพร่างกายแล้ว ปัญหาของความคิด ความเชื่อ เจตคติ ของสังคมที่แวดล้อมคนพิการกลับเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญ หรือที่เรียกว่าปัญหาทางสังคม ดังนั้นการพยายามจะแก้ปัญหา การแตกหักความคิดความเชื่อ สร้างความรู้ความเข้าใจ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนพิการในอยู่ร่วมในสังคมอย่างบูรณาการ หรือ Inclusive society หรือ Right based society เป็นอีกหนึ่ง Model และเป็นเรื่องใหม่ ในส่วนของหลักสูตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ของวิทยาลัยราชสุดา เน้นสิ่งเหล่านี้ การมีสิทธิพลเมืองของคนพิการที่มีความเท่าเทียม ยกระดับคุณภาพชีวิต ไม่ต้องเรียกร้อง ไม่ต้องสร้างสวัสดิการพิเศษ แต่เป็นที่สิทธิสวัสดิการที่เขาพึงจะได้เหมือนคนทั่วไป ในฐานะเป็นประชาชน เป็นคนในชุมชนเหมือนกัน นอกจากนี้หลักสูตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการยังได้ผนวก ๓ โมเดล หรือบูรณาการ ๓ ศาสตร์เข้ารวมกัน ได้แก่ วิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ประยุกต์หรือวิทยาการแพทย์ซึ่งเป็นระดับจุลภาค และอีกมิติหนึ่งคือสังคมศาสตร์หรือระดับมหภาค โดยเฉพาะนโยบาย กฏหมาย สิทธิ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม หลักสูตรจึงเปิดกว้างให้คนทุกศาสตร์ทุกสายสาขาวิชาที่สนใจด้านนี้เข้าศึกษาได้

รูปแบบการเรียนการสอนของหลักสูตรนี้

จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย นอกเวลาราชการเสาร์ อาทิตย์ การเรียนการสอนแบ่งเป็น การบรรยาย อภิปราย และการฝึกปฏิบัติ และการเรียนรู้ด้วยตัวเองของนักศึกษา แต่เน้นหลักคิดของการเรียนชั้นสูง คือให้นักศึกษาตีความ ผูกโยง คิดวิเคราะห์ ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การสังเคราะห์ สร้างองค์ความรู้ได้ และอีกส่วน คือ เน้นให้นักศึกษาได้ศึกษา เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรงจากคนพิการ คนพิการมีหลากหลาย รวมทั้งครอบครัว ชุมชนที่คนพิการเกี่ยวข้อง นอกจากจะเรียนในห้องเรียนแล้ว นักศึกษาจะได้ฝึกภาคสนามในประเด็นที่ตนเองสนใจ กับบุคคล ในหน่วยงาน หน่วยบริการที่เกี่ยวข้องและทำงานกับคนพิการจริงๆ อีกทั้งหลักสูตรฯ ของเรามีเครือข่ายเกี่ยวกับสถาบันคนพิการทั้งในและต่างประเทศ หลักสูตรแม้จะสอนหลักสูตรไทยแต่ก็เชิญ Professor เช่น Center on Disabilities, University of Hawaii, USA, Curtin University, Australia มาสอนในหัวข้อสำคัญๆ โดยตรงหรือผ่านช่องทาง Skype หรือ Social media อื่นๆ รวมทั้งการเดินทางไปศึกษา ดูงาน ณ ต่างประเทศของสถาบันเครือข่ายต่างๆ เพื่อเปิดมุมมอง เติมเต็มการเรียนรู้ของนักศึกษาที่หลากหลาย และสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

จากที่มาของหลักสูตร คือ "ต่อยอด สอดประสาน ทำงานเป็น เน้นบูรณาการ" หลักสูตรฯ จึงเปิดรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาใน "หลักสูตรระดับปริญญาโททุกสาขาวิชา" และเชื่อว่า หลักสูตรฯ จะสามารถสร้างนักศึกษาเป็นสหวิทยาการ บูรณาการในการให้เขาไปอยู่ตรงนั้น เป็นคนใหม่ เขาอาจจะกลับไปเป็นนักจิตวิทยา สถาปนิก พยาบาล วิศวกร ครู เหมือนเดิม แต่เป็น นักจิตวิทยา สถาปนิก พยาบาล แพทย์ วิศวกร ครู ที่มีความสามารถในเรื่องของบูรณาการศาสตร์ เขาอาจจะกลับไปเป็นแพทย์ นักกายภาพบำบัดอยู่ในโรงพยาบาลแต่ท่าทีเขาเปลี่ยนไป เพราะเขารู้แล้วว่าตัวเองรู้อะไรที่ลึก และรู้ว่าต้องไปผูกโยงกับศาสตร์อะไรบ้าง ที่จะช่วยพัฒนาคนพิการหรือสาขาอาชีพที่เขามี เพราะฉะนั้นคนที่มาเรียนจะมีทางของตัวเอง แล้วก็กลับไปทำงาน สำหรับงานใหม่เพื่อต่อยอด อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะใหม่เลย สร้างงานใหม่จริงๆ เรื่องคนพิการมีหลายอาชีพ หลายสาขาที่ยังไม่เกิดในเมืองไทย จริงๆ เราอยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เช่น นักให้คำปรึกษาคนพิการ หรือที่ต่างประเทศเรียก Rehabilitation Counselor ที่ประเทศไทยยังไม่มีอาชีพนี้ นักเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและนวัตกรรมสำหรับคนพิการ (Assistive Technologist) ตรงนี้จึงเป็นโอกาสที่วิทยาลัยจะผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง เป็นการสร้างอาชีพใหม่ สร้างตำแหน่งใหม่ให้กับคนรุ่นหลัง แน่นอนว่าเขาสามารถทำงานเดิมได้แต่ความกว้างและลึกมากขึ้นในเรื่องของคนพิการและการช่วยแบบองค์รวมมากขึ้น

อัตราส่วนคนพิการในประเทศ

เท่าที่สำรวจจากหลายสถาบัน จากสำนักงานสถิติแห่งชาติหรือการที่คนคนพิการเข้ามาขึ้นทะเบียนขอบัตรประจำตัวคนพิการของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยู่ประมาณ ๑.๕-๑.๘ ล้านคน จริงๆแล้ว ว่ากันว่า การสำรวจอาจจะไม่คลอบคลุม และบางส่วนสถิติอาจจะแย้งกันบ้าง เช่นตอนนี้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ที่ลงทะเบียนแล้ว มีประมาณ ๑,๘ ล้านคน แต่สำนักงานสถิติฯ สำรวจแล้ว มีประมาณ ๑,๕ล้านคน และปัญหาคือ เรื่องของการนิยาม การวินิจฉัยการตีกรอบ การเข้าถึงคนพิการหรือการสำรวจยังมีน้อย ผมเชื่อว่ามีคนพิการมากกว่านั้น สังเกต จากการได้ลงพื้นที่ชุมชนตามที่เขาสำรวจมาแล้วนั้น เราจะพบว่าอย่างน้อย ๒๐-๓๐% เราหาเพิ่มได้จากสถิติที่มีอยู่ นั่นแปลว่า มันต้องมีมากกว่านั้น องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ไว้แล้วว่า ๑๐% ของประชากร ของไทยมีเพียง ๑.๘ ล้านคน หมายถึงเพียงก็ ๓% ของประชากรเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าที่องค์การอนามัยโลกประมาณการไว้ถึง ๖-๗ เท่า ในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุจะมีความพิการมากขึ้น ทั้งที่ยอมรับและไม่ยอมรับ เช่น หูตาฝ้าฟาง ในนิยามสามารถจดทะเบียนเป็นคนพิการได้ แต่บางคนไม่ยอมรับหรือไม่อยากไปจดทะเบียนเป็นคนพิการ เพราะไม่อยากแสดงตัวตน ซึ่งโดยรวมแล้วจำนวนของคนพิการมีมากขึ้น ความรุนแรงและความซับซ้อนของปัญหายิ่งมากขึ้น ดั้งนั้นการมีองค์ความรู้ และมีบุคลากรทีทำงานร่วมกับคนพิการที่มีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาเห่านี้ได้ หลักสูตรฯ นี้ กำลังทำหน้าที่เรื่องนี้อยู่

ความต้องการบุคลากรทางด้านนี้เพิ่มมากขึ้น

จากข้อมูลข้างต้น ซึ่งโดยรวมแล้วจำนวนของคนพิการมีมากขึ้น ความรุนแรงและความซับซ้อนของปัญหายิ่งมากขึ้น ดั้งนั้นการมีองค์ความรู้ และมีบุคลากรทีทำงานร่วมกับคนพิการที่มีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาเห่านี้ได้ หลักสูตรฯ นี้ กำลังทำหน้าที่เรื่องนี้อยู่ สังคมจึงมีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้มาก

แต่อย่างไรก็ตาม ความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการทำงานด้านคนพิการ ความพิการ เป็นในหลักคิด แต่เอาเข้าจริงๆ นักวิชาชีพเหล่านี้ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นหรือเป็นกรอบที่รัฐบาลยอมรับ ยกตัวอย่างเช่น ล่ามภาษามือจำเป็นหรือไม่ หลายคนบอกว่าล่ามภาษามือขาด แต่ไม่มีตำแหน่งนี้อยู่ในหน่วยงานไหนเลย ยกเว้นที่วิทยาลัยราชสุดา เราต้องขอตำแหน่งจากมหาวิทยาลัย รัฐบาลก็ไม่มี ซึ่งตำแหน่งนี้จะไปถูกระบุในตำแหน่งนักวิชาการการศึกษา นักสังคมสงเคราะห์บ้าง ตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่ หรือ ที่ปรึกษาด้านวิชาชีพคนพิการ ก็ไม่มีตำแหน่งนี้เหมือนกัน นักให้คำปรึกษาฟื้นฟูสภาพคนพิการ ไม่มีตำแหน่งในเมืองไทย มีแต่นักให้คำปรึกษา นักจิตวิทยาทั่วไป การกลับไปทำหน้าที่ ตำแหน่งเดิมแต่มีมุมมองบูรณาการมากขึ้น ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่หลักสูตรต้องการ แต่ก็เป็นข้อกังวลเหมือนกัน สำหรับบุคคลที่ไม่มีสังกัด พวกนี้พอจบไปก็จะหาตำแหน่งรองรับยาก มันเป็นความต้องการบนคำพูด ต้องมาตั้งเป็นกรอบวิชาชีพ จะทำให้สิ่งเหล่านี้มีความโดดเด่น ซึ่งตรงนี้เราต้องทำการศึกษาและทำงานต่อเนื่องต่อไป

ความภาคภูมิใจ

หลักสูตรฯ ได้ทำการเปิดการเรียนสอนมาได้ ๑ ปี โดยนักศึกษารุ่นแรก ยังเรียนอยู่ปี ๑ ขึ้น ปี ๒ แต่สิ่งที่น่าดีใจ คือหลักสูตรเปิดเราได้คนที่ตรงกับหลักสูตรต้องการเลย คือ นักศึกษาของเรามาจากหลากหลายภาคส่วนต่างๆ เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นนักเทคโนโลยี เป็นคนพิการ นอกจากนี้ หลักสูตรยังได้รับการสนับสนุนเงินทุนของรัฐบาลไทย-นอร์เวย์ มีนักศึกษาจากประเทศลาวมาเรียนในหลักสูตรฯ นักศึกษาลาวมีความกระตือรือร้นมาก ฟังภาษาไทยได้ อ่านได้ อาจเขียนภาไทยไม่ได้ ต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง วิทยาลัยมีความภาคภูมิใจที่ได้เปิดหลักสูตรนี้ และที่สำคัญภาคภูมิใจ คือ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็นเอกองค์อัครมหาราชูปถัมภ์ ที่มีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อผู้พิการทุกระดับอายุ ทุกประเภท รวมถึงครอบครัวและองค์กรคนพิการจำนวนมาก ถือได้หลักสูตรฯ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีส่วนเฉลิมพระเกียรติ และคุณูปการของพระองค์ท่านต่อคนพิการ และเป็นความภาคภูมิใจของพวกเรายากจะหาที่เปรียบได้

นักศึกษามีทั้งผู้พิการและนักศึกษาปกติ อย่างนี้มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับการสอนหรือไม่

การที่มีนักศึกษาทั้งผู้พิการและนักศึกษาปกติ ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการสอนเลย เรามีหน่วยบริการ สนับสนุน ช่วยเหลือนักศึกษาพิการ ซึ่งทำมาตั้งแต่วิทยาลัยจัดตั้งขึ้น หลักสูตรให้ความสำคัญ มีการกำหนดคุณสมบัติในการสอบเข้าหากไม่ผ่านมาตรฐาน ทั้งคนพิการและคนทั่วไป ก็ถือว่าไม่มีคุณสมบัติ จะแนะนำว่าเขาต้องไปเพิ่มเติมส่วนใด สำหรับนักศึกษาที่เราไม่สามารถรับเข้าศึกษาได้ เพราะไม่ผ่านคุณสมบัติเรื่องวิชาการ มากกว่าความพิการของเขา หากเขาผ่าน มี Qualify เขาต้องได้เรียน ปัจจุบันก็มีนักศึกษาพิการทางร่างกายหนึ่งคน ถือว่าเป็นแบบอย่างหรือโมเดลที่ดีสำหรับคนพิการด้วยซ้ำ เข้าเป็นผู้เรียนมาเรียนกับหลักสูตร หลักสูตรฯ ก็ต้องเรียนรู้และเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือระหว่างเขาเรียนด้วยเหมือนกัน

ทุนการศึกษา

ด้านทุนการศึกษา ๑. ทุนที่เป็นของคณะ คือ ทุนช่วยเหลือนักศึกษาที่เรียนดีแต่ยากจน ปีหนึ่งจะให้ประมาณ ๕ ทุนๆละ ประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาทุกหลักสูตร ๒. ทุนที่เป็นมูลนิธิราชสุดา เป็นมูลนิธิที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้น ซึ่งทุนนี้หากเน้นให้โดยเฉพาะนักศึกษาคนพิการ ๓. ทุนจากแหล่งอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น ทุนรัฐบาลนอรเวย์ ซึ่งปัจจุบันมี นักศึกษาต่างชาติจากประเทศลาวเข้ามาเรียน 2 ทุน รวมทั้งทุนทำวิทยานิพนธ์ ทำวิจัยของบัณฑิตวิทยาลัย และแหล่งทุนวิจัยภายนอก เป็นต้น และนอกจากทุนแล้ว ที่สำคัญคือ วิทยาลัยราชสุดามีหอพักคนสำหรับรองรับคนพิการและนักศึกษาทั่วไปที่อาจจะเดินทางลำบาก หรืออยู่ห่างไกลด้วย

อยากให้อาจารย์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนสำหรับผู้ที่สนใจเข้าศึกษาหลักสูตรนี้

อยากบอกกับสังคมหรือผู้ที่จะเข้ามาเรียน สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่า หลายคนที่ทำงานด้านคนพิการเชิงลึก เป็นนักปฏิบัติที่ดี เป็นเพราะท่านมีใจ มีความเข้าอกเข้าใจ ตระหนัก บางครั้งท่านอาจรู้สึกว่า ท่านทำงานคนเดียว รู้สึกตัน ด้วยเรื่องคนพิการมีความซับซ้อน การที่ท่านมาเรียนที่นี่ ท่านสามารถเปิดโลกทัศน์ เปิดพื้นที่ในการทำงานมากขึ้น สามารถมาต่อยอดได้ ไม่ว่าท่านจะเป็นนักกายภาพ สถาปัตย์ วิศวกร ครู นักวิชาชีพ วิชาการอื่นใด ท่านสามารถเรียนรู้ในแนวกว้างว่า ศาสตร์ที่จะช่วยเหลือคนพิการมีมากกว่าที่ท่านทำอยู่ บางท่านจะรู้เลยว่าจะไปหาใครที่ไหน ในองค์ความรู้เหล่านั้น เพราะฉะนั้นหลักสูตรดุษฏีบัณฑิตสาขาพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นการรวมกันระหว่างแบบแผนทางการแพทย์ สังคม และสิทธิของมนุษยชนเป็นหลักเข้ามาผนวกกัน ถ้าท่านคิดว่าต้องการขยายตัวตน อยากเป็นนักบูรณาการศาสตร์ ท่านอยากพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการมากกว่าที่ท่านทำทุกวัน นี่เป็นโอกาสของท่านที่จะมาเรียนศึกษาและเชื่อว่าการพัฒนาองค์ความรู้คนพิการเป็นแผนที่สำคัญที่จำเป็นทำให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีความสอดคล้องและยั่งยืน เพราะการทำงานบนงานวิจัยและนวัตกรรม บนกระนวนการเรียนรู้ที่เป็นระบบนั้นเป็นหัวใจสำคัญในทุกมิติทั้งตอนนี้และอนาคต้

ผู้สนใจเข้าศึกษา สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรได้ที่

หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

งานวิเทศสัมพันธ์ สื่อสารองค์กรและภารกิจพิเศษ และงานรับนักศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ : 02 441 4125 ต่อ 131-137
โทรศัพท์ : 02 441 4125 ต่อ 112-115
อีเมล : panee.nus@mahidol.ac.th

For more inqueries & assistants, please call us gradinter@mahidol.ac.th or LINE Official @160ohrzm

To enable academic, professional,as well as career development programs to produce nationally and internationally competence human resources for 21st century