Prof. Dr. Chartchalerm Isarankura-Na-Ayudhya
Dean of Faculty of Graduate Studies
อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเวชศาสตร์ปริวรรต หลักสูตรนานาชาติ
Doctor of Philosophy Program in Translational Medicine (International Program)
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เวชศาสตร์ปริวรรต เป็นชื่อภาษาไทยที่ราชบัณฑิตสถานได้ให้ความหมายมากับคำว่า Translational Medicine ซึ่งเป็นสาขาวิชาแรกและวิชาเดียวที่เปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย โดยเปิดการเรียนการสอนมาเป็นเวลา ๔ ปีนับจาก พ.ศ.๒๕๕๖ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเวชศาสตร์ปริวรรต เป็นหลักสูตรพหุวิทยาการ (multidisciplinary) บูรณาการความรู้ระหว่างวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science) และวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (clinical science) มุ่งผลิตบัณฑิตที่เป็นแพทย์นักวิจัย (physician scientists) นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เวชศาสตร์ปริวรรต (translational research scientists) และ นักวิจัยและพัฒนาที่สังกัดภาครัฐหรือภาคเอกชน (R&D scientists) ให้เป็นผู้มีความรู้ มีความเป็นเลิศทางวิชาการ สามารถพัฒนางานวิจัยที่เชื่อมโยงความรู้ในลักษณะสหสาขาวิชา และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงทางคลินิก เพื่อพัฒนาวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วย ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตลอดจนเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางด้านสาธารณสุขของประเทศ (from bench to bedside to community) ในหลักสูตรฯ จะเน้นการทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาที่พบในทางคลินิก โดยสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนหลัก คือ งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science research) งานวิจัยทางคลินิก (clinical research) และงานวิจัยที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ (translational research)
หลังจากนักศึกษาสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถนำองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เรียนรู้ไปปรับใช้ได้จริง วิชาต่างๆ ใน coursework ของหลักสูตรจะเน้นความเข้าใจกลไกการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ในระดับโมเลกุลและเซลล์ นอกจากนี้ยังเน้นการใช้เทคโนโลยีชีวการแพทย์สมัยใหม่เพื่อทำการวิจัยด้านเวชศาสตร์ปริวรรตในปัจจุบัน การทำงานวิจัยแบบบูรณาการที่เกิดขึ้นในหลักสูตรฯ จะช่วยกระตุ้นให้นักศึกษามีความคิดมีระเบียบวิธีวิจัยและการวิเคราะห์ที่เป็นระบบ เพื่อผลิตผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมไปช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และข้อดีที่สุดคือ นักศึกษาของเรามีโอกาสที่จะลงไปสังเกตการณ์พร้อมกับอาจารย์แพทย์ที่ลงตรวจรักษาคนไข้ ในหน่วยตรวจผู้ป่วยนอก โดยอาจารย์แพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูล เช่น คนไข้ที่มาตรวจรับการรักษาเป็นโรคอะไร ปัญหาหลักๆทางคลินิกของผู้ป่วยคืออะไร ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคิดร่วมกันกับอาจารย์แพทย์ในงานวิจัย ให้นักศึกษาได้เห็นปัญหาที่แท้จริงด้วยตนเอง ซึ่งทางหลักสูตรคิดว่า วิธีการสอนและการปฏิบัติจริงนี้จะช่วยให้นักศึกษาสนใจในสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้น เห็นภาพวัตถุประสงค์การวิจัยชัดเจนขึ้น เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลักสูตรเวชศาสตร์ปริวรรต เป็นหลักสูตร International รับทั้งนักศึกษาไทยและต่างชาติ ในปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้จัดหาและเพิ่มทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติ เปิดโอกาสทางการศึกษา สนับสนุนให้ผู้ที่มีความสนใจที่ต้องการเข้าศึกษาต่อทางด้านนี้ได้เข้ามาศึกษา เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสู่การปฏิบัติใช้ได้จริงทางคลินิก ทั้งระดับปัจเจกและในระดับชุมชน ครอบคลุมบริบทของการวินิจฉัยรักษาและการป้องกันโรค และเพื่อการวิจัยและพัฒนางานในศาสตร์ด้านนี้ นอกจากนี้บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหิดลยังสนับสนุนให้ทุนการศึกษาในด้านต่างๆ อีกจำนวนมาก
แบ่งออกเป็นการทำงานทางด้าน academia โดยเป็นอาจารย์หรือครูในสถานศึกษา หรือเป็นผู้ให้ความรู้ทางด้าน Translational Medicine แก่หน่วยงานภาครัฐ เช่น สถาบันวิจัย กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันบริษัทเอกชนต่างๆ จะเป็นตัวแทนรับนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางชีวการแพทย์จากต่างประเทศเข้ามามากกว่าที่จะผลิตคิดค้นเองในประเทศ บริษัทเหล่านี้ต้องการผู้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีทางชีวการแพทย์ หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านเวชศาสตร์ปริวรรตมาทำงานร่วมกับทีม เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าของบริษัท และในอนาคตประเทศไทยจะมีโครงการ Thailand 4.0 ที่เน้นการผลิตยา หรือเทคโนโลยีใหม่ทางชีวการแพทย์ต่างๆ ได้เองในประเทศมากขึ้น ซึ่งบุคลากรด้านนี้ยังขาดแคลนอยู่มาก ดังนั้นนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร จะเข้าไปทำงานตรงนี้ได้ดี ด้วยนักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมแบบบูรณาการ (multidisciplinary) มีทักษะการสื่อสารที่ดีกับบุคลากรเฉพาะทางหลายๆ ด้าน มีความรู้ในเรื่องของ basic science เทคนิคการทำการทดลองในห้องปฏิบัติการเชิงลึก และทราบถึงวิธีการที่จะนำความรู้ไปใช้ได้จริง หรือตอบโจทย์งานวิจัยทางคลินิกที่เหมาะสมได้ดี
เนื่องจากหลักสูตรเราเปิดกว้าง เน้นเรื่องการนำองค์ความรู้ทาง Basic science ไปพัฒนาต่อยอดการดูแลรักษาผู้ป่วย เพราะฉะนั้นโจทย์วิจัยของหลักสูตรจึงค่อนข้างกว้างและสามารถรับผู้สนใจที่จบจากหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นผู้จบทางด้านวิชาชีพ อาทิ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ วิศวกร ซึ่งถ้ามีความสนใจที่จะนำความรู้วิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ไปพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น หรือมีความสนใจที่จะมาพัฒนาอะไรใหม่ๆให้กับผู้ป่วยชาวไทย ทางเราก็ยินดีต้อนรับ
ช่วงเวลาเปิดรับสมัคร : ตุลาคม – กุมภาพันธ์ ของทุกปี