Introduction to graduate programs

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ภาคปกติและภาคพิเศษ

ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
Master of Science Program in Occupational Health and Safety
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัมรินทร์ คงทวีเลิศ
Image Description
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัมรินทร์ คงทวีเลิศ
"จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การพัฒนาทางด้านการผลิตในอุตสาหกรรม หลักสูตรวทม. อาชีวอนามัยและความปลอดภัย จึงผลิตมหาบัณฑิตที่มีความพร้อมในเรื่องความรู้และวิชาการสมัยใหม่เพื่อให้สามารถควบคุมอันตรายต่อสุขภาพให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น"

ความเป็นมาของการจัดทำหลักสูตร

การพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วง ๔ ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้ก่อปัญหาด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในประเทศไทย เนื่องจากมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย การใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีรวมถึงการนำเข้าสารเคมีอันตรายมาใช้ในกระบวนการผลิต จึงทำให้เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย เช่น ปัจจัยทางกายภาพ ความร้อน แสง เสียง ปัจจัยเคมี สารเคมีต่างๆ ฝุ่น ฟูม ปัจจัยทางชีวภาพ เชื้อโรคต่างๆ รา แบคทีเรีย และปัจจัยทางการยศาสตร์ และจิตวิทยาสังคม เช่น โรคกระดูกกล้ามเนื้อจากการทำงานที่ไม่ถูกวิธี หรือทำซ้ำ ความเครียดจากการทำงาน เหล่านี้ทำให้เกิดโรคและการเจ็บป่วยจากการทำงานทั้งผู้ประกอบอาชีพทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร

ในปี ๒๔๗๒ ได้มีการพัฒนางานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นทางการ โดยการผลักดันของนักวิชาการ องค์กรเอกชนและจากภาคแรงงาน เพื่อให้รัฐบาลดูแลเอาใจใส่สภาพการทำงานให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยมีการนำพระราชบัญญัติกระทรวงอุตสาหกรรมมาใช้ ถือได้ว่าเป็นกฎหมายด้านอุตสาหกรรมฉบับแรกที่ให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่คนงานที่ทำงานในสถานประกอบการ ปี ๒๔๗๗ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการออกพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๔๗๗ และมีการปรับปรุงใหม่บังคับใช้ในปี ๒๔๘๔ กำหนดให้มีการคุ้มครองสุขภาพและอนามัยของลูกจ้างในสถานประกอบการ และปี ๒๕๑๐ ได้จัดตั้งโครงการอาชีวอนามัย ในระยะเริ่มแรกสังกัดกองช่างสุขาภิบาล และยกฐานะขึ้นเป็น กองอาชีวอนามัย สังกัดกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จากปัญหาต่างๆ ทำให้คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีหัวหน้าภาควิชาคนแรกคือ ศ.แพทย์หญิง มาลินี วงศ์พานิช ได้ก่อตั้ง ภาควิชาอาชีวอนามัย ขึ้นเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ และเป็นผู้บุกเบิกและผลักดันให้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัย ซึ่งแห่งแรกของประเทศไทย

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ภาคอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้เปิดหลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ที่ต้องการพัฒนาบุคคลากรของหน่วยงานให้มีความรู้กว้างขวางทางด้านการวางแผน การตรวจสอบ การตรวจวัด และการประเมินผล การควบคุมด้านความปลอดภัย และสุขภาพอนามัย และทำงานวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี ประกอบกับ พ.ศ. ๒๕๒๘ กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศ เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างลงวันที่ ๖ ใน พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๐๓ นับเป็นก้าวแรกที่มีการกำหนดให้ สปก. มีผู้ดูแลรับผิดชอบด้านความปลอดภัยในการทำงาน (Safety officer)

ความสำคัญของการจัดทำหลักสูตร

การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยที่กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๗๗) และ ทิศทางตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ต่อเนื่องจากวิสัยทัศน์แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ ยังคงเน้นการพัฒนาที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่มีรายได้สูง มีการกระจายรายได้และการพัฒนาอย่างเท่าเทียม มีระบบนิเวศน์ที่ดี สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นำสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ระยะยาว "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดยอยู่บนรากฐานของกรอบแนวคิดหลักการประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผลจากการพัฒนาประเทศในทิศทางดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบเกิดขึ้นโดยเฉพาะด้านสุขภาพและความปลอดภัยต่อแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์เทคโนโลยี วิธีการทำงาน กระบวนการผลิต และวัตถุดิบหลากหลายที่มีคุณสมบัติเป็นอันตราย รวมถึงความเสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน จากข้อมูลการประสบอันตรายจากสถิติสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม พบว่า จากจำนวนลูกจ้างทั้งหมดประมาณ ๙,๑๓๒,๗๕๖ คน มีจำนวนการประสบอันตรายจากการทำงาน ๑๐๐,๒๓๔ คน โดยมีผู้เสียชีวิต ๖๐๓ คน โดยมีการจ่ายเงินทดแทน (ไม่รวมกรณีที่การวินิจฉัยยังไม่สิ้นสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๗) เป็นเงิน ๑,๒๘๔.๑๐ ล้านบาท ซึ่งสถิติการประสบอันตรายในประเทศไทยยังสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียบางประเทศ

สำหรับแรงงานนอกระบบจากข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ สิ้นเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ จากกลุ่มผู้อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน ๓๘.๙๖ ล้านคนจำแนกเป็นผู้มีงานทำจำนวน ๓๘.๖๖ ล้านคน ทำงานภาคเกษตรกรรมจำนวน ๑๓.๔๖ ล้านคน และทำงานนอกภาคเกษตรกรรม (การผลิต ก่อสร้าง ขนส่ง ขายปลีก บริการ และธุรกิจอื่นๆ) จำนวน ๒๕.๒๐ ล้านคน มีแรงงานนอกระบบ ที่ทำงานทั้งภาคเกษตร ภาคการค้าและบริการ และภาคการผลิต (รวมถึงกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านและผู้ผลิตเพื่อขาย) มีจำนวน ๒๒.๑ ล้านคน ซึ่งมีร้อยละ ๔๒.๔ ที่ได้รับความคุ้มครองหรือมีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน โดยมีปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แรงงานนอกระบบประสบมากที่สุด คือ อิริยาบถในการทำงาน (ไม่ค่อยได้เปลี่ยนลักษณะท่าทางในการทำงาน) ร้อยละ ๓๙.๕ มีฝุ่น ควัน กลิ่น ร้อยละ ๒๕.๖ และมีแสงสว่างไม่เพียงพอร้อยละ ๑๕.๑ สำหรับปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงานที่ประสบเป็นส่วนใหญ่ คือได้รับสารเคมีเป็นพิษ เครื่องจักรเครื่องมือเป็นอันตรายร้อยละ ๖๒.๗ ทำงานในที่สูง ใต้น้ำ ใต้ดิน ร้อยละ ๖.๐

จากสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การพัฒนาทางด้านการผลิตในอุตสาหกรรม หลักสูตรวทม. อาชีวอนามัยและความปลอดภัย จึงผลิตมหาบัณฑิตที่มีความพร้อมในเรื่องความรู้และวิชาการสมัยใหม่เพื่อให้สามารถควบคุมอันตรายต่อสุขภาพให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การพัฒนาหลักสูตรจึงมุ่งเน้นการพัฒนานักวิชาการทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย และด้านการจัดการอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ที่มีความรู้ในทฤษฏีทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ความปลอดภัย การยศาสตร์ การจัดการทางด้านอาชีวอนามัย และทฤษฏีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มหาบัณฑิตมีทักษะในการพัฒนา แนวทาง กลวิธีในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ลดการเกิดโรคจากการทำงาน อุบัติเหตุ และประสานงานร่วมมือกับผู้อื่นได้ มีทักษะการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล การใช้เทคโนโลยีในการสืบค้นข้อมูลและการนำเสนอข้อมูลได้

จุดเด่น ความโดดเด่น ของหลักสูตร

เป็นหลักสูตรที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในหลักการและทฤษฎีด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สุขศาสตร์อุตสาหกรรม วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นองค์ความรู้พหุวิทยาการ มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ ทำวิจัย ด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย หรือปฏิบัติงานด้านบริหารการจัดการอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ในการคาดการณ์ การตระหนัก การประเมิน การป้องกันและการควบคุมอันตรายในสภาพแวดล้อมการทำงานและสิ่งแวดล้อม

หลักสูตร วทม.อาชีวนามัยและความปลอดภัย มุ่งเน้นให้มีการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน และทักษะที่จำเป็นโดยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้เรียนมีการพัฒนาความรู้ทางวิชาการ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาศักยภาพอย่างมีส่วนร่วม เพื่อดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยของผู้ประกอบอาชีพทั้งมวลและชุมชน โดยประยุกต์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีให้เกิดการพัฒนาความรู้หรือวิธีปฏิบัติงานที่ทันต่อสถานการณ์ได้อย่างดี และภาคปฏิบัติให้เกิดการพัฒนาความรู้หรือวิธีปฏิบัติงานแบบใหม่ได้อย่างดี มีภาวะผู้นำ จรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เปิดสอน ๒ วิชาเอก

  • วิชาเอกสุขศาสตร อุตสาหกรรมและความปลอดภัย

  • วิชาเอกการจัดการอชีวอนามัยความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก

  • ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา มีความร่วมมือในลักษณะ เป็นหลักสูตรที่ได้รับทุนวิจัยจากทางศูณย์ความเป็นเลิศและใช้เครื่องมืออุปกรณ์การวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา

  • University of Massachusetts Lowell, Ruger University , Mount Saini Medical school มีความร่วมมือในลักษณะ ได้รับทุนวิจัยจาก National Institutes of Health, USA ในการทำวิจัยร่วมกันและส่งอาจารย์รับทุน Post-doctoral training grant ไปที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

  • University of Occupational Environmental and Health (UOEH), Japan มีความร่วมมือในลักษณะ มีโปรแกรมการเรียนรู้ร่วมกันของบุคลากรระหว่าง 2 สถาบันอย่างต่อเนื่อง และมีแผนการทำวิจัยร่วมกัน

  • University of Ulm, Germany มีความร่วมมือในลักษณะ การทำวิจัยร่วมกันและมีการแลกเปลี่ยนบุคลากร

  • Cantho Medical University, Vietnam มีความร่วมมือในลักษณะ การจัดอบรมเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยร่วมกัน

  • Tokyo Occupational Safety and Health Center มีความร่วมมือในลักษณะ การจัดอบรมเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยร่วมกัน

  • The Ohara Memmoral Institute for Science of Labour มีความร่วมมือในลักษณะ การจัดอบรมเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในโครงการ Mekong Delta อย่างต่อเนื่อง

รูปแบบการเรียนการสอน

เป็นหลักสูตรไทย จัดการศึกษาภาคปกติ ในวันจันทร์ถึงศุกร์ และภาคพิเศษวันเสาร์อาทิตย์

สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับเมื่อได้เข้ามาศึกษา และสำเร็จการศึกษาออกไป

เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ภาคปกติและภาคพิเศษ) แล้ว นักศึกษาจะมีความรู้ความสามารถ ดังนี้

  • มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณที่ดีแห่งวิชาชีพ

  • มีความรู้ความเข้าใจในหลักการและทฤษฎีด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สุขศาสตร์อุตสาหกรรม วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ในลักษณะพหุวิทยาการ ค้นคว้า และจัดการแก้ไขปัญหาทางด้านอาชีวอนามัย สุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย และทางการจัดการด้านอาชีวอนามัยความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี

  • วิเคราะห์ ประยุกต์ สังเคราะห์ วิพากษ์ ทางด้านอาชีวอนามัย สุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย และการจัดการด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการวิจัย และสามารถประยุกต์ความรู้ นำไปพัฒนางานได้

  • มีทักษะในการทำงานเป็นทีมได้อย่างดี

  • ถ่ายทอดหรือนำเสนอผลงานและสื่อสารได้อย่างดีกับบุคคลกลุ่มต่างๆ ตลอดจน สามารถใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อาชีพที่ประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

  • นักวิชาการ นักวิจัย ที่ปรึกษาด้านอาชีวอนามัย ด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ด้านความปลอดภัย ด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน

  • พนักงานตรวจความปลอดภัยตาม พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.๒๕๕๔

  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ และผู้จัดการหน่วยงานความปลอดภัยในสถานประกอบการตาม พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔

  • นักวิชาการด้านสาธารณสุข

ความภาคภูมิใจ

เป็นหลักสูตรในระดับปริญญาโทแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนปริญญาโทสาขาวิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย ผลิตศิษย์เก่าเพื่อพัฒนางานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ที่ทำงานเป็นอาจารย์อยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดการเรียนการสอนด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน ในระดับปริญญาตรี ๓๓ สถาบัน และปริญญาโท ๓ สถาบัน นอกจากนี้ศิษย์เก่ายังพัฒนางานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และองค์กรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

งานวิจัยที่โดดเด่น

GEOHealth Hub for Occupational and Environmental Health: Improving Agricultural Health in Southeast Asia.

  • The U.S. National Institutes of Health (NIH) throught the Fogarty International Center has funded two paired grants to the GEOHealth Hub, one for research and one for training (๗ ทุน)

ศิษย์เก่าของหลักสูตรที่สร้างชื่อเสียง

  • รศ. วิชัย พฤกษ์ธาราธิกูล ปริญญาโท (ภาคปกติ) รุ่นที่ ๑ อาจาย์เคยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีบทบาทขับเคลื่อนและผลักดันงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และช่วยพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวกับงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมไปถึงพยายามผลักดันให้เกิดสภาวิชาชีพด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

  • รศ.ดร. ประมุข โอศิริ ปริญญาโท (ภาคปกติ) รุ่น ๕ ปัจจุบันอาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลิตศิษย์เก่าที่ออกไปพัฒนางานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

  • นายอำนวย ภู่ระหงษ์ ปริญญาโท (ภาคปกติ) รุ่น ๓ ปัจจุบันเป็น ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัย กระทรวงแรงงาน ช่วยพัฒนางานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย กำหนดและพัฒนามาตรฐาน ควบคุม ดูแล สถานประกอบกิจการให้ดำเนินตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ รวมทั้งแรงงานทางทะเล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง

  • นางบุปผา กวินวศิน ปริญญาโท (ภาคปกติ) รุ่น ๑๒ ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคบริการให้มีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงควบคู่ไปกับการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยภายในนิคมอุตสาหกรรมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนตลอดจนดูและผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยและต่างประเทศ

  • ผศ.ดร. ปวีณา มีประดิษฐ์ (ภาคปกติ) รุ่น ๑๓ อาจารย์ประจำ ภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรม และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา พัฒนางานด้านอาชีวอนามัย และผลักดันให้เกิดสภาวิชาชีพด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ทุนการศึกษาและสวัสดิการ

  • บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ทุนการนำเสนอผลงานวิจัย

  • สมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ทุนสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์บางส่วน

  • ศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์ ให้ทุนการศึกษา ทุนการทำวิจัย และสนับสนุนห้องปฏิบัติการวิจัย

  • สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร สนับสนุนห้องปฏิบัติการวิจัย

  • ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบให้ทุนการทำวิจัย

ฝากถึงผู้สนใจเข้าศึกษาในหลักสูตร

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสามารถหาข้อมูลได้ที่ในเว็บไซต์ของบัณฑิตวิทยาลัย https://graduate.mahidol.ac.th/ นอกจากนั้นสามารถโทรมาสอบถามได้ที่ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ โทร. ๐ ๒๖๔๔ ๔๐๖๙ ต่อ ๑๐๒

ผู้สนใจเข้าศึกษา สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรได้ที่

หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

งานวิเทศสัมพันธ์ สื่อสารองค์กรและภารกิจพิเศษ และงานรับนักศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
โทรศัพท์ : 02 441 4125 ต่อ 131-137
โทรศัพท์ : 02 441 4125 ต่อ 112-115
อีเมล : panee.nus@mahidol.ac.th

For more inqueries & assistants, please call us gradinter@mahidol.ac.th or LINE Official @160ohrzm

To enable academic, professional,as well as career development programs to produce nationally and internationally competence human resources for 21st century